เครื่องจองจำที่มั่นคง
ภิกษุทั้งหลาย ! นักปราชญ์ทั้งหลาย ไม่ได้กล่าวถึงเครื่องจองจำที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้ และทำด้วยหญ้าปล้อง ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง แต่กล่าวถึงความกำหนัดยินดีในต่างหูแก้วมณี และความใยดีในบุตร ภรรยา สามีว่า เป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง
ความกำหนัดในเครื่องจองจำที่มั่นคงนั้น มีปกติเหนี่ยวลง หย่อนยาน แต่แก้ให้หลุดได้ยาก
นักปราชญ์เหล่านั้น ตัดเครื่องจองจำนั้นได้แล้ว
ไม่ใยดี ละกามสุข ออกบวช
บุคคล ผู้ถูกวิตกย่ำยี มีราคะจัด เห็นอารมณ์ว่างามเสมอ ย่อมมีตัณหาพอกพูนมากขึ้น ๆ บุคคลเช่นนั้นแล ชื่อว่าสร้างเครื่องผูกมัดที่แน่นหนา
ส่วนผู้ใดยินดีในฌานเป็นที่สงบระงับวิตก มีสติทุกเมื่อ เจริญอสุภฌานอยู่ ผู้นั้นแล จักทำตัณหาให้สิ้นไปได้ จักตัดเครื่องผูกแห่งมารได้
ผู้บรรลุความสำเร็จแล้ว ไม่มีความสะดุ้งกลัว ปราศจากตัณหา ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ตัดลูกศรที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว ร่างกายนี้จึงเป็นร่างกายสุดท้าย
เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง รู้ธรรมทั้งปวง มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง ละธรรมทั้งปวงได้ หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา
ตรัสรู้ยิ่งเองแล้ว
จะพึงกล่าวอ้างใครเล่า (อุปัชฌาย์/อาจารย์)
โภคทรัพย์ทั้งหลาย ย่อมทำลายคนมีปัญญาทราม แต่จะไม่ทำลายคนที่แสวงหาฝั่ง (นิพพาน) เพราะความทะยานอยากในโภคทรัพย์ คนมีปัญญาทรามจึงทำลายตนเอง
ดุจทำลายคนอื่น ฉะนั้น
ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ผู้มีทั้งฌาน และปัญญานั่นแล จึงนับว่าอยู่ใกล้นิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายจงสลัดราคะ และโทสะทิ้งเสีย เหมือนต้นมะลิสลัดดอกที่เหี่ยวแห้ง ฉะนั้น
บุคคล รู้แจ้งธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว จากอาจารย์ใด ควรนอบน้อม อาจารย์นั้น โดยความเคารพ เหมือนพราหมณ์ นอบน้อมไฟที่บูชา ฉะนั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น