ผู้พ้นโลก
ผู้พ้นโลก คือ พระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็น ๔ จำพวก
ได้แก่
๑.
พระโสดาบัน (เกิดเป็นมนุษย์อีกอย่างมาก
๗ ชาติ อย่างกลางหรือ ๓ ชาติ อย่างน้อยอีก ๑ ชาติก็ จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ )
๒.
พระสกทาคามี (เกิดในโลกมนุษย์หรือสวรรค์อีก
๑ ชาติจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์)
๓. พระอนาคามี (จุติในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส
และปรินิพพานในพรหมโลกนั้น)
๔.
พระอรหันต์ (หมดสิ้นกิเลส
อันเป็นเชื้อแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสังสาร)
พระโสดาบัน คือ
ผู้โผล่ขึ้นแล้วจากกองกิเลสเห็นแจ่มแจ้งในธรรม คือ
ผู้เข้าสู่กระแสธรรม(พระนิพพาน) เป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา มีความเห็น
ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่เห็นผิดเป็นชอบ จะไม่ลงไปเกิดในอบายภูมิ คือ นรก เปรต
อสุรกาย และเดียรฉานอีก และจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในที่สุด แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท
ดังนี้
๑.
พระโสดาบันสัตตักขัตตุงปรมะ จะเวียนว่ายตายเกิดในเทวโลก และมนุษยโลก
อย่างมาก ๗ ชาติ
๒.
พระโสดาบันโกลังโกละ จะเวียนว่ายตายเกิดใน เทวโลก และมนุษยโลก อย่างมาก ๒-๓ ชาติ
๓. พระโสดาบันเอกพีชี จะเวียนว่ายตายเกิดใน เทวโลก และมนุษยโลก อย่างน้อย ๑ ชาติ
พระโสดาบัน สามารถตัด “สังโยชน์” (คือกิเลสผูกสัตว์ไว้กับภพมี ๑๐ ประการ) ได้ ๓ ประการ ได้แก่
๑.
สักกายทิฏฐิ คือ
มีความเห็นว่าขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ (ได้แก่ รูป (ร่างกาย)
นาม (จิตใจ) เป็นตัวเป็นตน เป็นของของตน
๒
วิจิกิจฉา คือ มีความลังเล สงสัย ไม่แน่ใจ
ในคุณของพระพุทธเจ้า ในคุณของพระธรรม และในคุณของพระอริยสงฆ์
๓
สีลัพพตปรามาส คือ การลูกคลำศีลเล่น
การยึดมั่นในศีลพรต มีการประพฤติปฏิบัติตามกันมาอย่างงมงาย อย่างขาดเหตุผล
ด้วยเห็นว่าเป็นของขลัง เป็นของศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้รักษาศีลเพื่อการละกิเลส
พระสกทาคามี
คือ ผู้โผล่ขึ้นแล้วว่ายเข้าหาฝั่ง
เป็นพระอริยบุคคลเป็นผู้สามารถตัดกิเลส คือสังโยชน์ ๓ ประการ
ได้เช่นเดียวกับพระโสดาบัน แต่มีกิเลส คือ ราคะ(ความกำหนัดยินดีในกาม
คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) โทสะ(ความโกรธ) และโมหะ(ความหลง)
เบาบางกว่าพระโสดาบัน จะเวียนว่ายตายเกิดในเทวโลก หรือมนุษยโลกอีกชาติเดียว
ก็จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์
พระอนาคามี คือ
ผู้โผล่ขึ้นแล้วไปถึงที่ตื้นหยั่งพื้นทะเลได้ เป็นพระอริยบุคคล
ผู้ไม่กลับมาสู่โลกนี้อีก เมื่อละสังขารแล้วก็จะไปจุติที่ พรหมโลกชั้นสุทธาวาส และปรินิพพานที่พรหมโลกนั้น
พระอนาคามีสามารถละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ครบทั้ง ๕ ข้อ มากกว่าพระโสดาบัน
และพระสกทาคามี อีก ๒ ข้อ ได้แก่ ข้อที่ ๔ และ ๕ คือ
๔.
กามราคะ คือ ความกำหนัดยินดี หรือติดใจในกามคุณ ๕
ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่ารัก น่าใคร่ น่าปรารถนา
๕.
ปฏิฆะ คือ ความหงุดหงิด ขัดเคืองใจ
เกิดจากความกระทบกระทั่งใจแต่เบากว่าโทสะ
พระอรหันต์ คือ ผู้โผล่ขึ้นแล้วข้ามฝั่งได้
ยืนอยู่บนบกได้ เป็นพระอริยบุคคลในระดับสูงสุดในพระพุทธศาสนา ผู้ดับเพลิงกิเลสซึ่งเป็นเชื้อแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้หมดโดยสิ้นเชิง
เมื่อละสังขารแล้ว ก็เข้าสู่พระนิพพาน พระอรหันต์สามารถละสังโยชน์เบื้องสูงได้ครบหมดทั้ง
๑๐ ข้อ เพิ่มจากพระอนาคามีอีก ๕ ข้อ ได้แก่
ข้อที่ ๖ – ๑๐ คือ
๖.
รูปราคะ คือ ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน หรือรูปธรรมอันประณีต
(คือรูปพรหมมี ๑๖ชั้น )
๗.
อรูปราคะ คือ ความติดใจในอารมณ์แห่ง อรูปฌาน หรืออรูปธรรม
มีความปรารถนาในอรูปภพ (คืออรูปพรหมมี ๔ ชั้น)
๘.
มานะ คือ ความสำคัญตนว่าตนเป็นนั่น เป็นนี่ เช่น
เลิศกว่าเขาสำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา เลิศกว่าเขาสำคัญตนว่าเสมอกว่าเขา
เลิศกว่าเขาสำคัญตนว่าด้อยกว่าเขา, เสมอเขาสำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา เสมอเขาสำคัญตนว่าเสมอกว่าเขา
เสมอเขาสำคัญตนว่าด้อยกว่าเขา,
ด้อยกว่าเขาสำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา ด้อยกว่าเขาสำคัญตนว่าเสมอกว่าเขา
ด้อยกว่าเขาสำคัญตนว่าด้อยกว่าเขา
๙.
อุทธัจจะ คือ ความคิดฟุ้งซ่านในทางกุศลกรรม
ยังมีการพิจารณาธรรมเพื่อละกิเลส
๑๐.
อวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้ง ไม่รู้จริงใน หลักธรรมอริยสัจ ๔ (ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นเรื่องของเหตุ และผล) ไตรลักษณ์ ลักษณะ ๓ ประการของสังขารธรรมทั้งหลาย คือ อนิจจัง(ความเป็นของไม่เที่ยง) ทุกขัง(ความเป็นทุกข์, ทนได้ยาก) อนัตตา(ความเป็นของไม่ใช่ตน) และปฎิจจสมุปบาท (การที่ธรรมทั้งหลายหรือสิ่งทั้งปวงที่อาศัยกันละกัน
จึงเกิดมีขึ้น)
(สังโยชน์
๑๐ คือ กิเลสอันผูกใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ หรือผูกกรรมไว้กับภพ
จาก..พจนานุกรมพุทธศาสตร์
ฉบับประมวลธรรม พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น