ข้ามบ่วงแห่งมาร
ภิกษุทั้งหลาย !
มาร คือ อายตนะ 6 ได้แก่ รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สัมผัส) และธรรมารมณ์ทั้งปวง เป็นโลกามิสอันแรงกล้า
ชาวโลกพากันหมกมุ่นอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น ส่วนสาวกของพระพุทธเจ้ามีสติ
ข้ามพ้นโลกามิสนั้น ทั้งข้ามบ่วงแห่งมารได้แล้ว รุ่งเรืองอยู่
ดุจดวงอาทิตย์ฉันนั้น
ภิกษุบุคคลเมื่อ "ยึดมั่นขันธ์ 5 นั่นเอง ก็ถูกมารผูกมัดไว้" เมื่อไม่ยึดมั่น ก็จะพ้นจากมารผู้มีบาป จงเบื่อหน่ายขันธ์ 5
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงบริสุทธิ์
ภิกษุทั้งหลาย ! ขันธ์
5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างใด
อย่างหนึ่ง หรือสังขารเหล่าใด เหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน
ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม
รูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณ ทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา เมื่อเห็นอย่างนี้ จึงไม่มีอหังการ(ทิฏฐิ) มมังการ(ตัณหา)
มานานุสัย(ความถือตัว) ในกายที่มีวิญญาณนี้ และนิมิตทั้งปวง ทั้งภายใน และภายนอก
อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขาร ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย
ย่อมคลายกำหนัด
เพราะคลายกำหนัด
จิตจึงหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่น
เพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป
บุคคลเมื่อกำหนดหมาย ก็ถูกมารผูกไว้ เมื่อไม่กำหนดหมายก็พ้นจากมารผู้มีบาป บุคคลเมื่อเพลิดเพลิน ก็ถูกมารผูกไว้
เมื่อไม่เพลิดเพลิน ก็พ้นจากมารผู้มีบาป
สิ่งใดไม่เที่ยง (ขันธ์5 ) เธอพึงละความพอใจ (อำนาจตัณหา) ในสิ่งนั้น
สิ่งใดเป็นทุกข์ เธอพึงละความพอใจ ในสิ่งนั้น
สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอพึงละความพอใจในสิ่งนั้น
สิ่งใดจูงใจให้กำหนัด
เธอพึงละความพอใจในสิ่งนั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น