วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

ขันธ์ 5




ขันธ์ 5
ภิกษุทั้งหลาย ! ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างใด อย่างหนึ่ง หรือสังขารเหล่าใด เหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็น อดีต อนาคต ปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกล หรือใกล้ ก็ตาม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง (มีความผันแปรเปลี่ยนไป) เป็นทุกข์ (ทนได้ยาก) และ เป็นอนัตตา (ว่างเปล่าจากตัวตน)
เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา เมื่อเห็นอย่างนี้ จึงไม่มี อหังการ(ทิฏฐิ) มมังการ (ตัณหา) มานานุสัย (การถือตังถือตนว่าเป็นนั่น เป็นนี่) ในกายที่มีวิญญาณนี้ และนิมิตทั้งปวง ทั้งภายในและภายนอก

อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขาร ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตจึงหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป







โทษของกาม




โทษของกาม

กาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
โทษของกาม คือ ไม่เที่ยง ว่างเปล่า เป็นเท็จ เป็นอนัตตา เป็นดุจโรค เป็นดังหัวฝี มีความเลือนหายไปเป็นธรรมดา มีลักษณะเป็นความหลอกลวง เป็นที่บ่นของคนพาล

กามสัญญาในภพนี้ และภพหน้า เป็นบ่วงของมาร วิสัยแห่งมาร เหยื่อของมาร โคจรของมาร กามนี้มีบาปอกุศลทางใจ คือ อภิชฌาบ้าง (การเพ่งอยากได้ของผู้อื่น) พยาบาท (ความปองร้าย) บ้าง สารัมยะ (ความแข่งดีบ้าง) กามเหล่านั้น ย่อมก่ออันตราย แก่อริยสาวกผู้ศึกษาในธรรมวินัยนี้

ดังนั้น เราพึงอยู่ด้วยจิตอันไพบูลย์เป็น มหัคคตะ (เป็นใหญ่เหนือรูปาวจร คือรูปฌาน 4 และอรูปาวจร คือ อรูปฌาน 4 ข่มกิเลสอยู่) อธิษฐานใจครอบงำโลกเสีย ผลที่ได้ คือ จิตย่อมผ่องใส น้อมไปในปัญญาปัจจุบัน มีวิญญาณไม่หวั่นไหว


การละลูกศร และกำจัดโทษอันเป็นพิษ


การละลูกศร และกำจัดโทษอันเป็นพิษ

ภิกษุทั้งหลาย ! เราละลูกศร คือ ตัณหา ได้แล้ว กำจัดโทษอันเป็นพิษ คือ อวิชชา ( ซึ่งงอกงามได้ด้วย ฉันทราคะ และพยาบาท ) ได้แล้ว จึงน้อมใจไปในนิพพานโดยชอบ

การเสพรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ รับรู้ธรรมารมณ์ อัน ไม่เป็นสัปปายะ(สบาย,เหมาะสม,เกื้อกูล) เนือง ๆ ราคะย่อมครอบงำจิตได้ และเมื่อจิตถูกราคะครอบงำ พึงถึงความตาย หรือทุกข์ปางตาย เปรียบเหมือนคนกินของแสลงอันไม่เป็นสัปปายะเนือง ๆ หรือไม่รักษาบาดแผลที่ยังไม่หายสนิทการทำกิเลสไม่ให้กลับมากำเริบอีก

เมื่อพิจารณาเห็นว่าตน ละลูกศร คือ ตัณหาได้แล้ว กำจัดโทษอันเป็นพิษ คือ อวิชชา น้อมจิตไปในนิพพานอันชอบแล้ว พึงหลีกเลี่ยง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ รับรู้ธรรมารมณ์ อันไม่เป็นสัปปายะเสีย มิฉะนั้น ราคะย่อมครอบงำจิตได้ และเมื่อจิตถูกราคะครอบงำจิต พึงถึงความตาย หรือทุกข์ปางตาย

การไม่ประกอบเนือง ๆ ในอารมณ์อันไม่เป็นสัปปายะ ด้วยการเสพรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะสัมผัส และรับรู้ธรรมารมณ์ อันไม่เป็นสัปปายะ ราคะก็ครอบงำจิตไม่ได้

(สัปปายะ คือ การเสพรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และรับรู้ธรรมารมณ์ อันเป็นที่สบายส่งเสริมการประพฤติปฏิบัติธรรมให้เจริญก้าวหน้า)





บาปอกุศลเกิดเพราะความหลงลืมสติ



บาปอกุศลเกิดเพราะความหลงลืมสติ

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมที่เป็นบาปอกุศล (ทุกขธรรม) ย่อมเกิดขึ้น เพราะความหลงลืมสติ ในการบางครั้งบางคราว สติเกิดขึ้นช้า ขณะนั้น เธอย่อมละบรรเทาธรรม ที่เป็นบาปอกุศลนั้น ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก พลันทีเดียว

ภิกษุตามรู้ธรรมเครื่องประพฤติ และธรรมเครื่องอยู่ โดยอาการที่เมื่อประพฤติอยู่ ธรรมที่เป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌา และโทมนัส จะไม่ครอบงำ เป็นอย่างนี้แล

ถอนลูกศรอาบยาพิษ



ถอนลูกศรอาบยาพิษ

ภิกษุทั้งหลาย ! เราตถาคตเปรียบดังหมอผ่าตัด ถอนลูกศรอาบยาพิษออกให้เธอแล้ว กำจัดพิษที่มีเชื้ออยู่ จนไม่มีเชื้อหลงเหลืออยู่แล้ว พ้นขีดอันตรายแล้ว แต่เธอต้องไม่กินของแสลง ต้องหมั่นล้างแผล ทายา ระวังไม่ให้แผลกลับมากำเริบ ไม่ตากแดด ตากลม ปล่อยให้สิ่งสกปรกโสโครก ฝุ่นละออง มาถูกปากแผล ทำให้แผลอักเสบ จนกว่าแผลจะหายสนิท สมานกันดี
หมอผ่าตัด หมายถึง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
มีดผ่าตัด หมายถึง อริยปัญญา (วิปัสสนาปัญญาอันบริสุทธิ์)
ลูกศร หมายถึง ตัณหา
โทษคือพิษ หมายถึง อวิชชา
แผล หมายถึง อายตนะภายใน 6
เครื่องตรวจ หมายถึง สติ

ผู้หลุดพ้นแล้ว จะไม่น้อมกาย หรือปล่อยจิตไปในอุปธิ (กิเลส) เปรียบการดื่มน้ำที่เจือยาพิษ หรือการพบอสรพิษต้องหลีกเลี่ยง



การเจริญสมถะ และวิปัสสนาควบคู่กัน



การเจริญสมถะ และวิปัสสนาควบคู่กัน
ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกับพระภิกษุทั้งหลายว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ไม่ว่าภิกษุ หรือภิกษุณีในธรรมวินัยนี้ เปิดเผยการบรรลุอรหัตตผลในสำนักของเรา ด้วยมรรค ๔ ประการนี้

๑. ภิกษุเจริญวิปัสสนา อันมีสมถะนำหน้า เมื่อเธอเจริญวิปัสสนา อันมีสมถะนำหน้า มรรคย่อมเกิด เธอเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรค เมื่อเธอเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยทั้งหมด ย่อมสิ้นสุดไป

. ภิกษุเจริญสมถะ อันมีวิปัสสนานำหน้า เมื่อเธอเจริญสมถะ อันมีวิปัสสนานำหน้า มรรคย่อมเกิด เธอเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรค เมื่อเธอเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยทั้งหมดย่อมสิ้นสุดไป

๓. ภิกษุเจริญสมถะ และวิปัสสนาควบคู่กันไป เมื่อเธอเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป มรรคย่อมเกิด เธอเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรค เมื่อเธอเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยทั้งหมดย่อมสิ้นสุดไป

๔. ภิกษุมีใจถูกอุทธัจจะในธรรมกั้นไว้ ในเวลาที่จิตตั้งมั่น สงบภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ มรรคย่อมเกิดขึ้นแก่เธอ เธอเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรค เมื่อเธอเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยทั้งหมดย่อมสิ้นสุดไป

(หมายเหตุ
สมถะ หมายถึง อุบายทำให้จิตสงบจากกิเลสทั้งปวง มี ๔๐ รูปแบบใหญ่
วิปัสสนา หมายถึง อุบายทำให้เกิดปัญญา ได้แก่ การพิจารณาขันธ์ ๕ และธรรมทั้งปวง ให้เห็นแจ้งตามความเป็นจริง เพื่อถอดถอนการยึดติดถือมั่น หรือเพื่อละกิเลสตัณหาทั้งปวง เพื่อการดับทุกข์)

การตั้งอยู่ของวิญญาณ



การตั้งอยู่ของวิญญาณ

ภิกษุทั้งหลาย ! พึงพิจารณาโดยประการที่เมื่อพิจารณาอยู่ วิญญาณไม่ฟุ้งไป ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้ง เพราะไม่ยึดมั่น เมื่อวิญญาณไม่ฟุ้งไป ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้ง เพราะไม่ยึดมั่น จึงไม่มีเหตุเกิด หรือแดนเกิดแห่ง ชาติ ชรา มรณะ และทุกข์ ต่อไป

ฟุ้งซ่านไปในภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
ตั้งมั่นภายใน คือ ความยินดีในรูปฌาน ๔
ความสะดุ้งเพราะความยึดมั่น คือ ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ









         


เพราะชื่นชมจึงถูกเคี้ยวกิน


เพราะชื่นชมจึงถูกเคี้ยวกิน

การชื่นชม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในปัจจุบัน และในอนาคต อาศัยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในอดีต เปรียบเสมือนถูก รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเคี้ยวกินอยู่

การพิจารณาเห็นว่าเราถูก รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณในปัจจุบัน เคี้ยวกินอยู่อย่างนี้แล้ว ไม่มีความอาลัยในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นอดีต ไม่ชื่นชมรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในอนาคต ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อดับ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นปัจจุบัน

บัดนี้เราถูก รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เคี้ยวกินอยู่ แม้ในอดีตกาล เราก็ถูกรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เคี้ยวกินแล้ว เหมือนกับถูก รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เคี้ยวกินอยู่ในเวลานี้

ก็เราเองพึงชื่นชมรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เป็นอนาคต แม้ในอนาคตกาล เราก็พึงถูกรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเคี้ยวกินอยู่ในเวลานี้

เธอพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ไม่มีความอาลัย ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เป็นอดีต ไม่ชื่นชม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เป็นอนาคต ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อดับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เป็นปัจจุบัน

เพราะรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน ภายใน หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น  นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา

อริยสาวกควรทำรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้พินาศ ไม่ก่อ ละทิ้ง ไม่ถือมั่น ไม่เรี่ยราย ไม่รวบรวมไว้ ทำให้มอด ไม่ก่อให้ลุกโพลงขึ้นอีก





พ้นทุกข์ด้วยพุทธธรรม

พ้นทุกข์ด้วยพุทธธรรม

       ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลฆ่าความโกรธได้ อยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธได้ จึงไม่เศร้าโศก ( ความโกรธมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน) ผู้ใดรู้ว่า ผู้อื่นโกรธ เป็นผู้มีสติ สงบใจไว้ได้ ผู้นั้นชื่อว่า ประพฤติเป็นประโยชน์ของคน ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายตน และฝ่ายคนอื่น “ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมเข้าใจว่า เป็นคนโง่

โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นภายในตน ย่อมประทุสร้าย ผู้มีจิตเลวทราม ดุจขุยไผ่ กำจัดต้นไผ่ ฉันนั้น 
    
     เพราะถือมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตัณหา มานะ ทิฎฐิว่า เรามี  จึงมี 
     เพราะไม่ถือมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตัณหา มานะ ทิฎฐิว่า เรามี  จึงไม่มี

เข้าโลกุตตรธรรมได้ เมื่อละ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ได้แล้ว ดุจถอนรากถอนโคนต้นตาลไปแล้ว ละตัณหาได้ เป็นอรหันต์ สิ้นภาวะสังโยชน์ และภพ

ธรรมที่ ควรกำหนดรู้ ด้วยปัญญาอันยิ่ง คืออุปาทานขันธ์ ๕
ธรรมที่ ควรละ ด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ อวิชชา, ภวตัณหา
ธรรมที่ ควรเจริญ ด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ สมถะ, วิปัสสนา
ธรรมที่ ควรทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ วิชชา, วิมุตติ

ภิกษุทั้งหลาย ! ไม่เศร้าโศกถึงอดีต ไม่คิดถึงอนาคต กำหนดอยู่กับปัจจุบัน เพราะเหตุนั้นผิวพรรณจึงผ่องใส เพราะคิดถึงอนาคต เศร้าโศกถึงอดีต ด้วยเหตุนี้ภิกษุทั้งหลาย ผู้เขลาจึงซูบซีด เหมือนต้นอ้อสด ที่ถูกถอนขึ้นแล้วฉันนั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ถามท่านพระสารีบุตรว่า

สารีบุตร เธอมีอินทรีย์ผ่องใส มีผิวพรรณบริสุทธิ์ผุดผ่อง เธออยู่ด้วยวิหารธรรมอะไร เป็นส่วนมากในบัดนี้

ท่านพระสารีบุตร กราบทูลพระพุทธองค์ว่า ข้าพระองค์อยู่ด้วยสุญญตาวิหารธรรม (ธรรมเป็นเครื่องอยู่ คือความว่าง) เป็นส่วนมากในบัดนี้ พระพุทธเจ้าข้า

พระพุทธองค์ ตรัสว่า ดีละ! ดีละ! สารีบุตร เธออยู่ด้วยธรรมของมหาบุรุษ เป็นส่วนมากในบัดนี้ เพราะวิหารธรรมของมหาบุรุษ คือ สุญญตา เราควรอยู่ด้วยสุญญตาวิหารเป็นส่วนมาก



การเจริญอินทรีย์อันยอดเยี่ยมในอริยวินัย


การเจริญอินทรีย์อันยอดเยี่ยมในอริยวินัย

เมื่ออายตนะภายใน 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอายตนะภายนอก 6 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แล้วรู้ชัดเกิดความชอบใจ ไม่ชอบใจขึ้น ความชอบใจ ไม่ชอบใจนั้น ถูกปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหยาบ อาศัยกันและกันเกิดขึ้นยังมี สิ่งที่ละเอียด และประณีต คือ อุเบกขา ความชอบใจ ไม่ชอบใจจึงดับไป

พระเสขะผู้กำลังปฏิบัติ เมื่อเกิดความชอบใจ ไม่ชอบใจขึ้นแล้ว จึงเกิดความอึดอัด เบื่อหน่าย รังเกียจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เพราะไม่ถือมั่นใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตัณหา มานะ ทิฎฐิว่า เรามี จึงไม่มีดุจมองดูเงาของตนในกระจก หรือในน้ำใสสะอาด จึงเห็น เพราะไม่มองดูเงาของตนในกระจก หรือในน้ำใสสะอาด จึงไม่เห็น
โทษของขันธ์ 5 คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นเท็จ ว่างเปล่า เป็นอนัตตา เป็นดุจโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ก่อความเดือดร้อน ทำให้ขัดข้อง เป็นเหมือนคนฝ่ายอื่น ขันธ์ 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความผันแปรเป็นธรรมดา เป็นโทษของขันธ์ 5

ธรรมเป็นที่กำจัดฉันทราคะ ธรรมเป็นที่ละขันธ์ 5 ธรรมเป็นเครื่องสลัดออกจากขันธ์ 5 คือ การพิจารณาขันธ์ 5 ทั้งภายใน ภายนอก อดีต อนาคต ปัจจุบัน หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ก็ตามว่า นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่ของเรา

เมื่อนั้น ก็จะไม่มี อหังการ(ทิฏฐิ) มมังการ(ตัณหา) และมานานุสัย (การถือว่าตนเป็นนั่น เป็นนี่) นิมิตทั้งปวงทั้งภายใน และภายนอก