วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ข้ามบ่วงแห่งมาร



ข้ามบ่วงแห่งมาร
  
ภิกษุทั้งหลาย ! มาร คือ อายตนะ 6 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สัมผัส) และธรรมารมณ์ทั้งปวง เป็นโลกามิสอันแรงกล้า ชาวโลกพากันหมกมุ่นอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น  ส่วนสาวกของพระพุทธเจ้ามีสติ  ข้ามพ้นโลกามิสนั้น ทั้งข้ามบ่วงแห่งมารได้แล้ว รุ่งเรืองอยู่ ดุจดวงอาทิตย์ฉันนั้น

ภิกษุบุคคลเมื่อ "ยึดมั่นขันธ์ 5 นั่นเอง ก็ถูกมารผูกมัดไว้" เมื่อไม่ยึดมั่น ก็จะพ้นจากมารผู้มีบาป จงเบื่อหน่ายขันธ์ 5  เมื่อเบื่อหน่าย  ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงบริสุทธิ์

ภิกษุทั้งหลาย ! ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างใด อย่างหนึ่ง หรือสังขารเหล่าใด เหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา เมื่อเห็นอย่างนี้ จึงไม่มีอหังการ(ทิฏฐิ) มมังการ(ตัณหา) มานานุสัย(ความถือตัว) ในกายที่มีวิญญาณนี้ และนิมิตทั้งปวง ทั้งภายใน และภายนอก

อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขาร ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด

เพราะคลายกำหนัด จิตจึงหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป

บุคคลเมื่อกำหนดหมาย ก็ถูกมารผูกไว้ เมื่อไม่กำหนดหมายก็พ้นจากมารผู้มีบาป บุคคลเมื่อเพลิดเพลิน ก็ถูกมารผูกไว้ เมื่อไม่เพลิดเพลิน ก็พ้นจากมารผู้มีบาป

สิ่งใดไม่เที่ยง (ขันธ์5 )   เธอพึงละความพอใจ (อำนาจตัณหา) ในสิ่งนั้น
สิ่งใดเป็นทุกข์            เธอพึงละความพอใจ ในสิ่งนั้น
สิ่งใดเป็นอนัตตา         เธอพึงละความพอใจในสิ่งนั้น
สิ่งใดจูงใจให้กำหนัด    เธอพึงละความพอใจในสิ่งนั้น


วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การสืบต่อพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์


การสืบต่อพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์

ท่านพระสารีบุตร แสดงธรรมแก่เหล่าพระภิกษุเรื่อง ภิกษุไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย  ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร  ไม่ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนือง ๆ ย่อมไม่สามารถสืบต่อพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ตลอดชีวิตได้

ภิกษุผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย  รู้จักประมาณในการบริโภคอาหารประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนือง ๆ ย่อมสามารถสืบต่อพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดชีวิตได้

การบริโภคอาหารพิจารณาให้แยบคาย ของภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่ใช่ เพื่อเล่น  ไม่ใช่เพื่อมัวเมาไม่ใช่เพื่อประดับ   ไม่ใช่เพื่อตกแต่งแต่เพื่อดำรงตนอยู่ได้แห่งกายนี้  เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้  เพื่อกำจัดความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์  ด้วยคิดเห็นว่า เราจักกำจัดเวทนาเก่า และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น  ความดำเนินไปแห่งกายความไม่มีโทษ และการอยู่อย่างผาสุกจักมีแก่เรา

การประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนือง ๆ ของภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากธรรมทั้งหลายที่เป็นเหตุขัดขวาง ด้วยการจงกรมด้วยการนั่งตลอดวัน  ตลอดปฐมยามแห่งราตรีนอนดุจราชสีห์ โดยข้างเบื้องขวาซ้อนเท้าเลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ หมายใจลุกขึ้นตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี ลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลาย ที่เป็นเหตุขัดขวางด้วยการจงกรม  ด้วยการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี




การเจริญมรณัสสติ สูตรที่ 2



การเจริญมรณัสสติ สูตรที่ 2

ภิกษุทั้งหลาย ! มรณัสสติ ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันผ่านไป กลางคืนย่างเข้ามา พิจารณาดังนี้ว่า ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากแท้ คืองูพึงกัดเราก็ได้ แมงบ่องพึงกัดเราก็ได้ หรือตะขาบพึงกัดเราก็ได้ เพราะเหตุนั้น เราพึงตาย เราพึงมีอันตราย เราพึงพลาดหกล้มก็ได้ ภัตตาหารที่เราฉันแล้ว ไม่พึงย่อยก็ได้ เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้ ลมมีพิษดังศัสตราของเราพึงกำเริบก็ได้ พวกมนุษย์พึงทำร้ายเราก็ได้ พวกอมนุษย์พึงทำร้ายเราก็ได้ เพราะเหตุนั้นเราพึงตาย เราพึงมีอันตรายนั้น

ภิกษุทั้งหลาย !ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึงเป็นอันตรายแก่เรา ผู้จะตายในเวลากลางคืนนี้ หรือกลางวันนี้ มีอยู่หรือไม่

ภิกษุพิจารณาอยู่อย่างนี้ว่า บาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้จะตายในเวลากลางคืนนี้ หรือกลางวันนี้ มีอยู่ ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละบาปอกุศลเหล่านั้น ซึ่งเป็นดุจผู้มีผ้าถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะถูกไฟไหม้อยู่