วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เหตุเกิดแห่งภพ



เหตุเกิดแห่งภพ

ภิกษุทั้งหลาย ! กรรม ( กุศลกรรม, อกุศลกรรม ) ชื่อว่า เป็นไร่นา
วิญญาณ ( อภิสังขารวิญญาณที่เกิดร่วมกรรม ) จึงชื่อว่า เป็นพืช
ตัณหา จึงชื่อว่าเป็นยางเหนียว วิญญาณตั้งมั่นอยู่ได้
เพราะ ธาตุอย่างหยาบ (กามธาตุ) เพราะ ธาตุอย่างกลาง (รูปธาตุ) และเพราะ ธาตุอย่างละเอียด (อรูปธาตุ)ของสัตว์ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องปิดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ การเกิดในภพใหม่ จึงมีต่อไปด้วยประการละฉะนี้


หลักการตรวจสอบความเป็นพระอรหันต์


หลักการตรวจสอบความเป็นพระอรหันต์ 

ภิกษุทั้งหลาย !  พระอรหันต์นั้นตรวจสอบได้ด้วยอุปาทานขันธ์ 5      
รู้แจ้งรูป ว่าไม่มีกำลัง  ปราศจากความน่ารัก  ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความชื่นใจ  สละคืนรูป
         รู้แจ้งเวทนา ว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความชื่นใจ  สละคืนเวทนา
รู้แจ้งสัญญา ว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความชื่นใจ  สละคืนสัญญา
รู้แจ้งสังขาร ว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความชื่นใจ  สละคืนสังขาร
รู้แจ้งวิญญาณ ว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความชื่นใจ สละคืนวิญญาณ

พระอรหันต์จึงรู้ชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะความสิ้นไป คลายไป ดับไป สละไป  สละคืนอุปาทานในขันธ์ 5 และอนุสัย คือ ความตั้งใจมั่น และปักใจมั่นได้

หลักการทดสอบธาตุ 6  คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาศธาตุ  วิญญาณธาตุว่าเป็น อนัตตา  ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของของตน

          หลักการทดสอบอายตนะ 12  คือ  อายตนะภายใน 6  ได้แก่ ตา หู  จมูก  ลิ้น กาย ใจ และอายตนะภายนอก 6 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็น อนัตตา ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของของตน

          หลักการทดสอบเรื่องถอนอนุสัย คือ กามราคะ  ปฏิฆะ  ทิฏฐิ  วิจิกิจฉา  มานะ ภวราคะ และอวิชชา  สามารถถอนได้หมดสิ้นแล้ว




สุญญตาในภายใน



สุญญตาในภายใน 

พระตถาคตเจ้าเข้า สุญญตาในภายใน  เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวง  ทรงยินดีในวิเวก ในเนกขัมมะ  สิ้นสุดจากธรรมที่อันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะ  โดยประการทั้งปวง  ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว  บรรลุปฐมฌาน... บรรลุทุติยฌาน...บรรลุตติยฌาน...บรรลุจตุตถฌาน... ด้วยการใส่ใจสุญญตาในภายใน  จิตจึงไม่แล่นไป  ไม่เลื่อมใส  ไม่ตั้งมั่น และไม่น้อมไปในสุญญตาภายใน 

สาวกควรติดตามศาสดาอย่างใกล้ชิด  เพื่อฟังเรื่องความมักน้อย  ความสันโดษ  ความสงัด  ความไม่คลุกคลีกัน  ความปรารภความเพียร  เรื่อง   ศีล  สมาธิ  ปัญญา  วิมุตติ  วิมุตติญาณทัสสนะ  ซึ่งเป็นเรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง  เป็นสัปปายะแห่งจิต   เพื่อความเบื่อหน่าย   เพื่อคลายกำหนัด   เพื่อดับ  เพื่อสงบระงับ  เพื่อรู้ยิ่งเพื่อตรัสรู้  เพื่อนิพพาน

สิ่งที่ควรพิจารณาเห็น



สิ่งที่ควรพิจารณาเห็น

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุควรพิจารณาเห็นธรรมตามความเป็นจริง
ความกำหนดหมาย เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร
ความหวั่นไหว เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร
ความดิ้นรน เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร
ความปรุงแต่ง เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร
ความถือตัว เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร ได้แก่ เรามี เราเป็นนี้ เราจักมี เราจักไม่มี เราจักเป็นรูป เราจักเป็นผู้ไม่มีรูป เราจักเป็นผู้มีสัญญา เราจักไม่เป็นผู้มีสัญญา เราจักเป็นผู้มีสัญญาก็ไม่ใช่ เราจักเป็นผู้ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่

สิ่งที่ควรเห็น ภิกษุผู้มีความเห็นชอบ พึงเห็นสุขเวทนา โดยความเป็นทุกข์, พึงเห็นทุกขเวทนา โดยความเป็นลูกศร, พึงเห็นอทุกขมสุขเวทนา โดยความไม่เที่ยง ถอนตัณหาได้ เพิกถอนสังโยชน์แล้ว ไม่มีอาสวะ ทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะรู้แจ้งมานะโดยชอบ




สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่ควรละ



สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่ควรละ

ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งทั้งปวง หมายถึง จักขุ - รูป, โสตะ - เสียง,
ฆานะ-กลิ่น, ชิวหา - ลิ้น, กาย - โผฏฐัพพสัมผัส, มโน - ธรรมารมณ์

ธรรมเพื่อละสิ่งทั้งปวง ได้แก่
จักขุ- รูป, โสตะ- เสียง, ฆานะ- กลิ่น, ชิวหา - ลิ้น, กาย - โผฏฐัพพสัมผัส, มโน- ธรรมารมณ์

จักขุกระทบรูป เกิดจักขุวิญญาณ จักขุวิญญาณ เกิดจากจักขุสัมผัส แม้ความเสวยอารมณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ที่เกิดจากจักขุสัมผัส ก็เป็นสิ่งที่ควรละ

โสตะกระทบเสียง เกิดโสตวิญญาณ โสตวิญญาณ เกิดจากโสตสัมผัส แม้ความเสวยอารมณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ที่เกิดจากโสตสัมผัส ก็เป็นสิ่งที่ควรละ

ฆานะกระทบกลิ่น เกิดฆานวิญญาณ ฆานวิญญาณ เกิดจากฆานสัมผัส แม้ความเสวยอารมณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ที่เกิดจากฆานสัมผัส ก็เป็นสิ่งที่ควรละ

ชิวหากระทบรส เกิดชิวหาวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ เกิดจากชิวหาสัมผัส แม้ความเสวยอารมณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ที่เกิดจากชิวหาสัมผัส ก็เป็นสิ่งที่ควรละ

กายกระทบโผฏฐัพพะ เกิดกายวิญญาณ กายวิญญาณ เกิดจากกายสัมผัส แม้ความเสวยอารมณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ที่เกิดจากกายสัมผัส ก็เป็นสิ่งที่ควรละ

มโนรู้แจ้งธรรมารมณ์ เกิดมโนวิญญาณ มโนวิญญาณ เกิดจากมโนสัมผัส แม้ความเสวยอารมณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ที่เกิดจากมโนสัมผัส ก็เป็นสิ่งที่ควรละ



สัตว์ท่องเที่ยวในโลก


สัตว์ท่องเที่ยวในโลก

ภิกษุทั้งหลาย ! โลก (สัตว์โลก) มีความเพลิดเพลิน เป็นเครื่องผูกไว้ วิตก เป็นเหตุเที่ยวไปของโลกนั้น
เพราะ "ละตัณหา" ได้ จึงตัดเครื่องผูกได้ทั้งหมด (นิพพาน)

โลก (สัตว์) ถูก "มัจจุราช" กำจัด ถูก "ชรา" ล้อมไว้ ถูก "ลูกศร" คือตัณหา เสียบไว้ ถูกความอยากเผาให้ร้อน ตลอดกาลทุกเมื่อ

เมื่ออายตนะ 6 เกิด โลก (สัตว์)จึงเกิด โลกทำความเชยชมในอายตนะ 6 โลกยึดอายตนะ 6 นั่นแล โลกเดือดร้อน เพราะอายตนะ 6



๓ โลกธาตุ


๓ โลกธาตุ


ภิกษุทั้งหลาย ! สหัสสีโลกธาตุขนาดเล็ก หมายถึง โลกธาตุที่มี 1,000 จักรวาล มีดวงจันทร์ 1,000 ดวง, มีดวงอาทิตย์ 1,000 ดวง, มีขุนเขาสิเนรุ 1,000, ชมพูทวีป 1,000, มีอปรโคยานทวีป 1,000, อุตตรกุรุทวีป 1,000, ปุพพวิเทหะทวีป 1,000, มีมหาสมุทร 4,000, มีท้าวมหาราช 4,000, มีเทวโลกชั้นจตุมหาราชิกา 1,000 มีเทวโลกชั้นดาวดึงส์ 1,000 มีเทวโลกชั้นยามา 1,000 มีเทวโลกชั้นดุสิต 1,000 มีเทวโลกชั้นนิมมานรดี 1,000, มีเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตดี 1,000, มีพรหมโลก 1,000

สหัสสีโลกธาตุขนาดกลาง หมายถึง โลกธาตุที่มี 1,000,000 จักรวาล
สหัสสีโลกธาตุขนาดใหญ่ หมายถึง โลกธาตุที่มี 100,000 โกฏิจักรวาล



คุณและโทษของโลก การสลัดออกจากโลก




คุณและโทษของโลก การสลัดออกจากโลก

ภิกษุทั้งหลาย ! ก่อนตรัสรู้เรามีความคิดว่า อะไร ? หนอเป็นคุณของโลก อะไร ? หนอเป็นโทษของโลก อะไร ? เป็นเครื่องสลัดออกจากโลก

และเราก็รู้ว่า สภาพที่สุขโสมนัสอาศัยโลกเกิดขึ้นนี้ เป็นคุณของโลก
สภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความผันแปรไปเป็นธรรมดานี้ เป็นโทษในโลก
ธรรมเป็นที่กำจัดฉันทราคะ ธรรมเป็นที่ละฉันทราคะ เป็นเครื่องสลัดออกไปจากโลก

เมื่อสัตว์ทั้งหลายรู้ตาม ย่อมออกไป หลุดไป พ้นไปจากโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก จากหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย มีใจปราศจากขีดคั่นอยู่ได้


ผลการห้ามผู้อื่นให้ทาน



ผลการห้ามผู้อื่นให้ทาน

ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ใดห้ามบุคคลอื่นให้ทานอยู่ ผู้นั้นชื่อว่าทำอันตรายแก่วัตถุ 3 อย่าง เป็นโจรดักปล้นวัตถุ 3 อย่าง
1. ทำอันตรายแก่ บุญของทายก (ผู้ให้)
2. ทำอันตรายแก่ ลาภของปฏิคาหก (ผู้รับ)
3. ในเบื้องต้นตัวเขาเองย่อมถูกกำจัด และถูกทำลาย



สิ้นชาติจบพรหมจรรย์


สิ้นชาติจบพรหมจรรย์

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อไม่กำหนดหมายสิ่งทั้งปวง ได้แก่ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโนเป็นของเรา, จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณเป็นของเรา, การเสวยอารมณ์ เป็นสุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ จากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณเป็นปัจจัย เป็นของเรา, จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส และมโนสัมผัสเป็นปัจจัยนั้นเป็นของเรา, รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ และธรรมารมณ์เป็นของเรา

ไม่กำหนดหมายสิ่งทั้งปวง ไม่กำหนดหมายในสิ่งทั้งปวง ไม่กำหนดหมายเพราะสิ่งทั้งปวง ไม่กำหนดหมายว่าสิ่งทั้งปวงเป็นเรา ผู้ไม่กำหนดหมายอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก เมื่อไม่ถือมั่น ย่อมไม่สะดุ้งกลัว เมื่อไม่สะดุ้งกลัว ย่อมดับเฉพาะตน "รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว" ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป

การกำหนดหมายสิ่งใดเป็นของเรา สัตว์โลกก็ข้องอยู่ในภพ ยังยินดีในภพนั่นเอง





ปฏิปทาที่เป็นสัปปายะแก่พระนิพพาน



ปฏิปทาที่เป็นสัปปายะแก่พระนิพพาน

      ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมเห็นว่า จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย และมโน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ย่อมเห็นว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ย่อมเห็นว่าจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ย่อมเห็นว่าจักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส และมโนสัมผัส ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

และเห็นว่าแม้ความเสวยอารมณ์ ที่เป็นสุขหรือทุกข์ หรือมิใช่สุข มิใช่ทุกข์ เพราะจักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส และมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อเห็นรูปทางตา ฟังเสียงทางหู ดมกลิ่น ทางจมูกลิ้มรสทางลิ้น ถูกต้องสัมผัสทางกาย รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจ ไม่ดำริซ่านไป ฟุ้งไป ในธรรมที่เป็นบาปอกุศล ถ้าปล่อยให้ดำริซ่านไป ฟุ้งไป จะเป็นการเกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สบาย เพราะบาปอกุศล จะฟุ้งท่วมภิกษุนั้น

การประพฤติพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัยนี้ เมื่อกำหนดรู้ทุกข์ คือ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย และมโน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

เห็นว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

เห็นว่าจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

เห็นว่าจักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส และมโนสัมผัส ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

เห็นว่าแม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข หรือทุกข์ หรือมิใช่สุข มิใช่ทุกข์ เพราะจักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส และมโนสัมผัส เป็นปัจจัย ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อเห็นรูปทางตา ฟังเสียงทางหู ดมกลิ่น ทางจมูกลิ้มรสทางลิ้น ถูกต้องสัมผัสทางกาย รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจ ก็ไม่ดำริซ่านไป ฟุ้งไป ในธรรมที่เป็นบาปอกุศล เพราะบาปอกุศล จะฟุ้งท่วมภิกษุนั้นให้เป็นทุกข์ ภิกษุเบื่อหน่ายในทุกข์ จึงประพฤติพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัยนี้ เพื่อการพ้นทุกข์







บุคคลพูดภาษาคูถ



บุคคลพูดภาษาคูถ

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคล 3 จำพวก

1. บุคคลพูดภาษาคูถ คือ บุคคลที่รู้ แต่กล่าวว่าไม่รู้, ไม่รู้ แต่กล่าวว่ารู้, กล่าวเท็จทั้ง ๆ ที่รู้ เพราะตนเป็นเหตุ เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุ เพราะเห็นแก่อามิส

2. บุคคลพูดภาษาดอกไม้ คือ บุคคลที่รู้ ก็กล่าวว่ารู้, ไม่รู้ ก็กล่าวว่าไม่รู้, ไม่กล่าวเท็จ เพราะตนเป็นเหตุ เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุ เพราะเห็นแก่อามิส

3. บุคคลพูดภาษาน้ำผึ้ง คือ บุคคลที่เว้นพูดคำหยาบคาย พูดด้วยถ้อยคำที่ไม่มีโทษ ไพเราะ น่ารัก จับใจ